การยื่นของเท้าเทียม ของ เท้าเทียม (ชีววิทยา)

เท้าเทียมนั้นไม่ใช่โครงสร้างในการเคลื่อนที่เสียทีเดียว แต่เป็นแค่การดันเยื่อหุ้มเซลล์ให้โป่งออกมา และให้ผิวหน้าของเซลล์ที่ยื่นออกมา ทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่อะมีบอยด์ โดยการดันนั้นเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชัน (polymerization) ที่ทำให้โปรตีนแอคติน (actin) รวมตัวและแยกตัว กลายเป็นไมโครฟิลาเมนท์หรือแอคตินฟิลาเมนท์ (microfilament หรือ actin filament) ซึ่งทำให้ไซโทพลาสซึม (cytoplasm) ในเซลล์อะมีบอยด์ที่มีอยู่ 2 ส่วนคือเอ็กโทพลาสซึม (ectoplasm) หรือไซโทพลาสซึมชั้นนอกที่มีลักษณะเป็นสารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เรียกว่าเจล (gel) และเอ็นโดพลาสซึม (endoplasm) หรือไซโทพลาสซึมชั้นในที่มีลักษณะเหลวกว่าเจล จะเรียกว่าโซล (sol) โดยไซโทพลาสซึมทั้งสองส่วนจะทำการเปลี่ยนสมบัติของตัวเอง โดยเจลจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นโซล ในขณะเดียวกัน โซลก็จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นเจล ซึ่งการเปลี่ยนสถานะดังกล่าวจะทำให้เกิดการไหลของไซโทพลาสซึมขึ้นโดยไซโทพลาสซึมจะไหลไปในทางเดียวกับทางที่เซลล์เคลื่อนที่ไป และดันเยื่อหุ้นเซลล์ส่วนนั้นให้โป่งออกมาเป็นเท้าเทียม ทำให้อะมีบอยด์สามารถเคลื่อนที่ได้ โดยเรียกการเคลื่อนที่แบบนี้ว่าการเคลื่อนที่แบบอะมีบา